ประเด็นร้อน
“แก้คอร์รัปชันเพื่อไทยแลนด์ 4.0:พรุ่งนี้ต้องไปฟัง”
โดย ACT โพสเมื่อ Nov 24,2017
- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
วันพรุ่งนี้อังคารที่ 21 พฤศจิกายน โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตหรือ CAC จะจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี
เพื่อระดมสมองการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ งานนี้จัดเป็นประจำทุกปีโดยปีนี้จัดเป็นปีที่แปด เพื่อเป็นเวทีให้บริษัทเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน และภาคประชาสังคมมาร่วมแสดงความคิดเห็นในแนวทางต่างๆที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญต่ออนาคตของประเทศ และแม้รัฐบาลปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับคอร์รัปชันว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ไข แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่ ไม่หนีไปไหน แสดงถึงความยากของการแก้ไขปัญหา และถ้าประเทศยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ โอกาสที่เราจะเห็นประเทศไทยก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ก็จะติดขัดหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะมีคอร์รัปชันเป็นอุปสรรค
ที่คอร์รัปชันเป็นอุปสรรคต่อไทยแลนด์ 4.0 ก็เพราะ หนึ่ง คอร์รัปชันสร้างต้นทุนให้กับภาคธุรกิจ ให้มีภาระที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมในการทำธุรกิจ เพื่อให้เกิดความราบรื่นในการทำธุรกิจ ไม่ให้เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะเมื่อธุรกิจต้องมีการติดต่อขออนุญาตต่างๆจากหน่วยราชการ รวมถึงเพื่อความสะดวกของประชาชนในการใช้ชีวิตประจำวันที่อาจต้องจ่ายเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนต่อภาคธุรกิจและประชาชน และตราบใดที่ประเทศยังมีค่าใช้จ่ายแบบนี้ ประเทศก็จะเป็นประเทศที่มีต้นทุนสูง ลดความน่าสนใจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศในสายตาต่างประเทศ
สอง ในเศรษฐกิจยุค 4.0 ความไม่แน่นอนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อธุรกิจ เพราะความไม่แน่นอนทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น ความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งที่นักธุรกิจไม่ชอบและอยากหลีกเลี่ยง ดังนั้นในประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรง เช่น ประเทศไทย ความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจจึงมีมาก โดยเฉพาะความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายหรือกฎระเบียบทางการที่อาจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หรือมีต้นทุนเพิ่มเติมในการทำธุรกิจ ที่ต้องจ่ายให้กับฝ่ายการเมืองและข้าราชการที่ฉ้อฉลที่หารายได้จากตำแหน่งหน้าที่ สิ่งเหล่านี้ทำให้การทำธุรกิจในประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงจะมีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงสูงจนไม่มีใครอยากเข้าไปเกี่ยวข้อง เห็นได้ว่า ประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันมาก มักจะเป็นประเทศที่ล้าหลังในการพัฒนาประเทศ ไม่สามารถผลักดันตนเองให้ก้าวหน้าทัดเทียมประเทศอื่นๆ เพราะประเทศไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหา เห็นได้จากปัญหาคอร์รัปชันที่ประเทศมีอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้
สาม นักธุรกิจและพลเมืองของประเทศ 4.0 จะให้ความสำคัญกับเรื่องความยุติธรรม ความโปร่งใส ประสิทธิภาพ และการเคารพกฎหมาย ระเบียบ และสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นคุณลักษณะของประเทศที่เจริญแล้ว ของพลเมืองและนักธุรกิจของประเทศที่มีการศึกษา มีวุฒิภาวะสูงที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรม มีจริยธรรม ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างมืออาชีพ สนับสนุนโดยบรรยากาศการเมืองภายในประเทศที่เปิดกว้างต่อการแสดงความคิดเห็น มีความเป็นประชาธิปไตยที่เคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในลักษณะนี้ การคงอยู่ของปัญหาคอร์รัปชันจึงสะท้อนความไม่พร้อมในคุณลักษณะสำคัญเหล่านี้ที่ประเทศควรมีแต่ไม่มี ทำให้ปัญหาคอร์รัปชันจึงมีอยู่ เพราะประเทศไม่เคารพกฎกติกาหรือกฎหมายของบ้านเมือง ไม่เคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นประเทศที่อำนาจเป็นใหญ่ และสังคมไม่ได้อยู่กันด้วยเหตุผล ทำให้ประเทศขาดบรรยากาศของการใฝ่รู้ของประชาชนอย่างที่ควรจะมี ของการอยากก้าวไปข้างหน้า มีแต่ความพยายามที่จะรักษารูปแบบเดิมๆไว้ เพราะเป็นที่มาของประโยชน์ของกลุ่มคนที่มีอำนาจ ทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆจึงไม่เกิดขึ้นหรือทำได้ยาก ในทางเศรษฐศาสตร์ ลักษณะแบบนี้คือ ลักษณะของประเทศที่มีความอ่อนแอเชิงสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเมือง สถาบันเศรษฐกิจ สถาบันราชการ และสถาบันยุติธรรม ทำให้ปัญหาที่มีอยู่จึงแก้ยาก แม้ข้าราชการและนักธุรกิจของประเทศจะมีความรู้ มีการศึกษาสูง แต่ก็ไม่สามารถใช้ความรู้แก้ไขปัญหาที่ประเทศมีอยู่
ด้วยเหตุนี้ ถ้าปัญหาคอร์รัปชันยังแก้ไขไม่ได้ ก็ยากที่ประเทศจะเดินต่อไปสู่ระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น และจะไม่สามารถก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างที่หวังแต่ที่ยังพอจะเป็นความหวังอยู่ก็คือ ประเทศนั้น โดยธรรมชาติแล้ว สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าประชาชนหรือคนในประเทศต้องการและร่วมมือกันทำให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น สังคมไทย ถ้าย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบปีก่อน ก็ไม่ได้มีปัญหาคอร์รัปชันมากมายอย่างในปัจจุบัน แต่ที่ปัญหาแย่ลงก็เพราะความเข้มแข็งเชิงสถาบันของประเทศเปลี่ยนไปคืออ่อนแอลงมาก คนที่ไม่เคารพกฎหมายจึงเป็นผู้ได้เปรียบในการหาประโยชน์ให้กับตนเองและลูกหลาน จากการทุจริตคอร์รัปชันที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศมาก แต่ก็ไม่สนใจเพราะไม่เคยถูกลงโทษ ทำให้แรงจูงใจในระบบเศรษฐกิจของประเทศถูกบิดเบือน จากความอ่อนแอของระบบการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน จึงต้องเริ่มจากการทำให้ระบบการบังคับใช้กฎหมายของบ้านเมืองเข้มแข็งเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนในประเทศเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งข้าราชการ นักการเมืองและนักธุรกิจให้หยุดคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายประเทศในเอเชียที่เคยมีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงอย่างเราทำได้ ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน ที่สามารถลดทอนหรือแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ จนนำพาประเทศไปสู่ความทันสมัย เป็นเศรษฐกิจหรือประเทศแบบ 4.0
ประเทศเราก็ต้องทำเช่นกัน และการบ้านที่ต้องทำก็คือ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชนหรือภาคประชาสังคม โดยต้องแก้ให้ระบบราชการมีความโปร่งใส ระบบธุรกิจเอกชนมีจริยธรรมและมีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ ระบบยุติธรรมมีความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมายและเป็นธรรม และภาคประชาสังคมเข้มแข็ง พร้อมร่วมมือสอดส่องดูแลพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชันไม่ให้เกิดขึ้น ถ้าทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตนอย่างเข้มแข็ง โอกาสที่ประเทศเราจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ก็จะสูงขึ้นแน่นอน
โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตเป็นโครงการที่สร้างพื้นที่ให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันโดยบริษัทเอกชนสามารถเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ทำธุรกิจสะอาด ไม่มีทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ เป็นการเข้าร่วมอย่างสมัครใจ และเมื่อเข้าร่วมแล้ว บริษัทก็มีพันธกิจที่ต้องวางนโยบายและระบบการป้องกันการทุจริตภายในบริษัทตามมาตรฐานที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ปัจจุบัน โครงการ CAC มีความก้าวหน้าต่อเนื่อง ล่าสุดมีบริษัทเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์แล้วถึง 858 บริษัท และมีบริษัทที่ได้รับการรับรองจากโครงการ CAC แล้ว 284 บริษัท ว่าเป็นบริษัทที่มีนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ที่สำคัญ ตัวเลขเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แสดงถึงความต้องการของภาคเอกชนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา
การสัมมนาของ CAC ปีนี้จะจัดในหัวข้อ Bright Spot หรือจุดสว่าง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพยายามของฝ่ายต่างๆในประเทศขณะนี้ทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมที่กำลังช่วยกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันผ่านโครงการต่างๆที่แต่ละคนทำ ในภาคเช้า จะเป็นการแสดงความเห็นของนักวิชาการต่างประเทศสองท่านคือ Prof. Nikos Passat และ Dr. Frank Brown ที่จะพูดถึงประโยชน์และศักยภาพของแนวร่วมปฏิบัติหรือ Collective Action ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ดูจากประสบการณ์ในต่างประเทศ จากนั้น จะเป็นการนำเสนอโดยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำของประเทศไทยห้าบริษัทที่ได้รับการรับรองจากโครงการ CAC พูดถึงเหตุผลและประโยชน์ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการ CAC ในภาคบ่ายจะเป็นช่วงของภาคประชาสังคมที่จะพูดถึงโครงการต่างๆที่กำลังทำกันเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลที่ดี สร้างความโปร่งใส รวมถึงเปลี่ยนวิธีคิดและจิตสำนึกของคนไทย เพื่อลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน โดยมีตัวอย่างจากภาคการเงิน สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการและภาคธุรกิจ ล้วนเป็นความพยายามที่เป็นจุดสว่างที่น่าชื่นชม และเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ 4.0 วิทยากรทุกท่านตั้งแต่เช้าถึงเย็นจะมานำเสนอในสไตล์ TED Talk คือ กระชับ ตรงเวลา และพูดจากใจ ท้ายสุด จะปิดงานด้วยการมอบใบประกาศให้กับบริษัทเอกชนจำนวน 74 บริษัทที่ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ในรอบครึ่งหลังของปีนี้
ก็อยากให้ทุกท่านมาร่วมงาน มาเป็นกำลังใจให้กับพลังเล็กๆของภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมที่กำลังเป็นจุดสว่างของความพยายามแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ งานจะจัดที่โรงแรมดุสิตธานี ตั้งแต่เวลา 8.00 น. ถึง 17.00 น. ท่านที่สนใจ สามารถลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ www.thai-iod.com หรือติดต่อคุณสาริณี เรืองคงเกียรติ และคุณสุทธินี เกิดช่วย ได้ที่ 02-955-1155 เบอร์ต่อ 402 และ 404 มาให้ได้นะครับ และพบกันวันพรุ่งนี้
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน